บทความโดย ผศ.นรเศรษฐ์ อุดาการ
Asst.Prof. Norrasate Udakarn
The College of Music, Payap University
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อัศจรรย์ มีความพิเศษและสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ออกมาอย่างมากมาย ไม่ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อมจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะเป็นในช่วงภาวะปกติสุข สภาวะสงคราม เกิดภัยพิบัติใหญ่หลวงหรือแม้กระทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 2 ปี แต่สถานการณ์ก็ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายและสามารถกลับไปสู่สภาพเดิมได้อีก มนุษย์เราก็ยังสามารถสร้างผลงานดนตรีที่งดงามออกมาให้ได้ชมกันอย่างมากมาย
ดนตรีคลาสสิกก็เป็นอีกผลงานการสร้างสรรค์ทางด้านดุริยางคศิลป์ ที่เมื่อเรากลับไปในอดีตแล้วย้อนมองดู ศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ผ่านผลงานการประพันธ์ อัตชีวประวัติของนักประพันธ์ทุกยุคทุกสมัย เราจะพบว่า แม้ว่าสภาพสังคมและสถานการณ์แวดล้อมจะมีความลำบากมาเพียงใด ก็มิอาจปิดกั้นและขัดขว้างการสร้างสรรค์ผลงานทั้งการประพันธ์ การแสดงและงานแขนงอื่น ๆ ของดนตรีคลาสสิกได้ เพราะสุดท้ายแล้ว “ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ”
โควิดมา คอนเสิร์ตฮอลล์ร้าง ไร้เสียงดนตรี
แท้จริงแล้ว หากเราจะกล่าวถึงกระแสความนิยมของดนตรีคลาสสิกนั้น ในช่วงนี้ ซึ่งสามารถนับตั้งแต่การก้าวเข้าสู่ ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มตัวนั้น ดนตรีคลาสสิกกำลังเข้าสู่ขาลงพอสมควร จากยุคที่เคยรุ่งเรื่อง มีวงออร์เคสตราและสถาบันการสอนดนตรีคลาสสิกชั้นนำเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ตั๋วการแสดงคอนเสิร์ตขายหมดล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ บ้างก็ขายหมดกันเป็นฤดูกาล ต้องเปิดจองที่นั่งสำรอง หากจะเดินทางไปชมการแสดงแบบ “Walk in” นั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่แล้วทุกอย่างก็เริ่มถดถอย วงออร์เคสตราระดับอาชีพหลายวงต้องเลิกกิจการ กลายเป็นตำนานแห่งยุครุ่งเรืองของดนตรีคลาสสิก โรงเรียนและสถาบันที่เปิดสอนดนตรีคลาสสิกหลายแห่งต้องแบกรับรายจ่ายมหาศาล จำเป็นต้องบริหารกิจการบนฐานของคำว่า ‘ขาดทุน’ แต่ที่สำคัญ ไม่มีอะไรจะให้ความรู้สึกเจ็บปวดไปได้มากกว่า “คอนเสิร์ตฮอลล์ร้าง ไร้เสียงดนตรี” เพราะพิษและผลกระทบของมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19
การจัดการแสดงดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงคอนเสิร์ตคลาสสิกนั้นเป็นการแสดง รายการแรก ๆ ที่ถูกทางการสั่งห้ามจัดการแสดง เนื่องจากเป็นการรวมตัวของคนจำนวนมาก ประกอบกับการจัดการแสดงนั้นเป็น กิจกรรมที่ต้องจัดการแสดงในหอแสดงดนตรี คอนเสิร์ตฮอลล์ (Concert Hall) ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเทและที่สำคัญคือ เป็นการทำกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างผลกำไร หรืออาจจะกล่าวได้แบบไม่เกรงใจ ว่าการแสดงคอนเสิร์ต หรือการแสดงดนตรีคลาสสิกนั้น ไม่มีมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ ส่งให้ในการลำดับความสำคัญในการออกมาตรการควบคุมนั้นย่อมถูกสั่งให้งดและยกเลิกการจัดกิจกรรมก่อนเป็นอันดับแรก
“เป็นสิ่งแรกที่สั่งให้งด และเป็นสิ่งสุดท้ายที่อนุญาตให้กลับมาจัดได้”
วลีที่กล่าวในข้างต้นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงวิธีคิดและคำบ่งบอกสถานะที่แท้จริง ในชุดความคิดของหลาย ๆ ท่านที่เป้นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และออกนโยบาย โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่วิธีคิดและปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมของดนตรีคลาสสิกมาแล้ว โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการถอดวิชาดนตรีและศิลปะออกจากวิชาบังคับในการเรียนการสอนระดับประถม ซึ่งหมายความว่าเด็กและเยาวชนอเมริกันจะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาเหล่านี้เลย หากไม่เรียนนอกเวลาหรือเข้าร่วมกิจกรรมหลังเลิกเรียน เหตุเพียงเพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลดลง ดังนั้นรัฐบาลจึงแก้ไข โดยการตัดวิชาที่คิดว่าสำคัญน้อยที่สุดออกก่อน เพื่อเพิ่มเวลาให้วิชาที่มีผลต่อการประเมินโรงเรียนและเขตการศึกษามากว่านั่นเอง
ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก็เป็นมาตรการเหมารวม งด ยกเลิกทั้งหมดทุกกิจกรรมที่เป็นการแสดดนตรี ทั้ง ๆ ที่มีอีกหลายกิจกรรมดนตรีที่สามารถดำเนินการได้ โดยสามารถเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อหนุนใจ เสริมพลังใจให้ทุก ๆ ในสังคมได้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปและที่สำคัญคือ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์นั่นเอง
ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ
แต่เมื่อเกิดวิกฤต โอกาสย่อมเกิดขึ้นเสมอ โดยดนตรีคลาสสิกก็เป็นอีกแขนงหนึ่งที่มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยนอกจากประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ดนตรีคลาสสิกได้มีการพัฒนาและปรับตัว ครั้งใหญ่เพื่อต่อสู้และอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยมีรายละเอียดและมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งขอนำเสนอและยกตัวอย่างดังนี้
โลกแคบลงอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทุกคนต้องกักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ต้องดำเนินกิจกรรมทุกอย่างทั้งฝึกซ้อม พบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ นักดนตรี และรวมไปถึงการจัดการแสดงดนตรี ทั้งหมดต้องทำจากที่บ้าน เหมือนจะน่าเบื่อแต่ด้วยความก้าวหน้าและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่สามารถทำให้ทุกกระบวนการดำเนินการได้ด้วยแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ ทั้ง Zoom, Google Meeting, Facebook, Microsoft Team และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำให้ศิลปินระดับโลกที่อยู่ต่างที่ ต่างประเทศ สามารถจัดการแสดง การสอน Masterclass ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเด็ก ๆ นักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ สามารถเข้าร่วมได้โดยไร้ข้อจำกัด ทั้งในด้านเวลาและสถานที่ และที่พิเศษสุดสำหรับหลาย ๆ ท่าน ที่ดำเนินกิจกรรมแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย
นักดนตรีคลาสสิกต้องปรับตัว
ข้อนี้เป็นอีกประการที่สามารถตีความได้มากมาย ทั้งการปรับตัวด้านการฝึกซ้อม การแสดงที่ต้องหันมายิบจับอุปกรณ์ IT การทำคอนเสิร์ตสตรีมมิ่ง การแสดง Live ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่แม้จะยุ่งยากในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อทำจนเคยชินแล้ว ก็เป็นการแสดงอีกรูปแบบที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากมาย และสะดวกมากกว่าการแสดงในหอแสดงดนตรีเสียอีก เรียกได้ว่าเสิร์ฟดนตรีคลาสสิกถึงบนที่นอนเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น นักดนตรีคลาสสิกหลาย ๆ ท่านต้องปรับตัวถึงขนาดต้องหาอาชีพเสริม หางานอดิเรกทำเพื่อเป็นการหารายได้ เพราะไม่สามารถหารายได้จากการเล่นดนตรีได้เหมือนดังเดิม การปรับตัวนี้แม้จะค่อนข้างเจ็บปวด แต่ก็ต้องทำ เพราะทุกคนต้องกินต้องใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักดนตรีคลาสสิกระดับกลางและระดับเริ่มต้น ที่ไม่มีเงินเก็บหรือไม่ได้มีชื่อเสียงมากพอที่จะทำ Masterclass ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
นักดนตรีคลาสสิกก็คือมนุษย์
สุดท้าย ไม่ว่าความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ เทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร แต่การสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์และการแสดง ก็ยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีชีวิตอยู่เพื่อมัน เสพและซึมซับความงดงาม เพื่อทำให้ชีวิตของทุก ๆ ท่านมีความรัก โลภ โกรธและหลง ดังนั้น แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะเป็นอย่างไร แต่ขอเพียงจำไว้ว่า “ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ” ขนาดดนตรีคลาสสิกที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน พร้อม ๆ กับการเกิดอารยธรรมโบราณหลาย ๆ อารยธรรม ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสงครามมานับครั้งไม่ถ้วนยังสามารถคงอยู่ และรอดพ้นจนถึงในปัจจุบัน ดังนั้นชีวิตของมนุษย์อย่างเราก็ต้องรอดเช่นกัน เหมือนดนตรีคลาสสิกกับโควิด – 19 นั่นเอง