บทความโดย ผศ.นรเศรษฐ์ อุดาการ
Asst.Prof. Norrasate Udakarn
The College of Music, Payap University
ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ การวิจัยและเทคโนโลยี ส่งผลให้มนุษย์เราสามารถที่จะพัฒนาวิธีการรักษา ยา และกิจกรรมบำบัดต่าง ๆ นานาวิธีเพื่อมาบรรเทาและรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วย ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ
แต่คุณทราบหรือไม่ครับว่า ยังมีอาการป่วยอีกมากมายหลากหลายอาการที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการเยียวยาเฉพาะทางกายภาพ เพราะอาการเจ็บป่วยและโรคเหล่านั้นเป็นสภาวะและเป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับจิตใจของมนุษย์
ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะบูรณาการการรักษาและความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่ง กิจกรรมบำบัดหรือแนวทางการรักษาซึ่งจะสามารถครอบคลุมอาการและรักษาความเจ็บป่วยทั้งในด้านกายภาพและในด้านจิตใจที่เกิดขึ้นสำหรับมนุษย์
ดนตรีบำบัด (Music Therapy) จึงเกิดขึ้นเพื่อถูกนำมาใช้ในการรักษา หรือพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยทั้งในด้าน ร่างกาย จิตใจ ความคิด และรวมไปถึงทักษะทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดียิ่งขึ้น สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กลับสู่สภาวะปกติ
ดนตรีบำบัดสามารถช่วยในการฟื้นฟูให้ผู้ป่วยมีความพร้อมเพื่อที่จะรับการรักษาด้วยวิธีการปกติได้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วยครับ ดังตัวอย่างซึ่งอ้างอิงจากผลงานวิจัยที่เคยมีการศึกษาไว้ สำหรับการใช้ดนตรีบำบัดต่อผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด
การใช้ดนตรีบำบัดด้วยการฟังเพลงก่อนการผ่าตัด สามารถช่วยลดความเครียดและความกังวลได้ เนื่องจากฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดนั้นมีปริมาณลดลง ส่งผลให้สามารถสรุปได้ว่าดนตรีบำบัดสามารถช่วยลดอาการเครียดและลดความกังวลต่อผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งการฟังดนตรียังช่วยลดภาวะซึมเศร้า และสามารถปรับให้อารมณ์สงบขึ้นทำให้นอนหลับง่ายขึ้น เรียกได้ว่าดนตรีบำบัดเปรียบเสมือนยา หรือกิจกรรมบำบัดที่สามารถส่งผลกับจิตใจ ได้เป็นอย่างดี
แต่ในปัจจุบัน แม้ดนตรีบำบัด และทฤษฎีดนตรีบำบัดได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และยังมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่หลักการใช้ดนตรีบำบัดอย่างถูกต้อง และประโยชน์ของดนตรีบำบัดที่แท้จริงนั้นก็ยังมีคนเพียงหยิบมือที่มีความเข้าใจการใช้ดนตรีบำบัดอย่างถูกต้อง
ดังนั้น วันนี้เราจะมาพูดคุยกันในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีบำบัด เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจถึงประวัติดนตรีบำบัด หลักการและทฤษฎีดนตรีบำบัดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่เราจะได้เข้าใจและรู้จักดนตรีบำบัดมากขึ้น เพราะการเล่นดนตรีหรือการฟังเพลงเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะช่วยรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ได้ครับ
ที่มาและประวัติดนตรีบำบัด
ศาสตร์ทุกแขนงบนโลกล้วนมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน บางองค์ความรู้อาจจะสะสมประวัติและความเป็นมาร่วมหลายรอยปี หากแต่ จะมีผู้จดบันทึกหรือมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์มากน้อยเพียงใดต่างหาก
โดยเฉพาะสำหรับประวัติดนตรีบำบัด ที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานไม่แพ้ศาสตร์อื่น ๆ แต่พัฒนาการนั้น ยังไม่มีหลักคิดหรือทฤษฎีดนตรีบำบัดออกมารองรับให้มีความน่าเชื่อถือ หรือตามหลักวิชาการ ดังเช่นในยุคกรีกโบราณ เพลโต (Plato, 428 – 348 BC) และปีทาโกรัส (Pythagoras, c.570 – c.495 BC) ก็เคยกล่าวถึงผลกระทบและอิทธิพลของดนตรี ที่สามารถรวบรวมและประสานจิตใจเข้ากับร่างกายได้อย่างสงบเมื่อได้รับฟังดนตรี ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีคำว่า “ดนตรีบำบัด” จึงยากที่จะอธิบายให้เกิดความเข้าใจด้วยหลักการต่าง ๆ
จนกระทั่ง ค.ศ.1789 หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับดนตรีบำบัดชิ้นแรกจึงปรากฏขึ้น โดยเป็นททความเรื่อง “Music Physically Considered” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการใช้ดนตรี ในการทำกิจกรรมสำหรับช่วยบำบัดการเจ็บป่วย ตีพิมพ์ในวารสาร “Columbian Magazine” และในช่วงปี ค.ศ.1800 ได้มีงานดุษฎีนิพนธ์ทางการแพทย์ 2 ชิ้นโดย Dr. Edwin Atlee (1804) และ Samuel Matthews (1806) โดยทั้งสองเป็นลูกศิษย์ของ Dr. Benjamin Rush (1747 – 1813) นักกายภาพบำบัดและนักจิตเวชชาวอเมริกัน ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในการใช้ดนตรีในการจัดกิจกรรมบำบัดเพื่อช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย และได้รับการขนานนามว่าเป็น “Father of American Psychiatry”
ความสนใจในการศึกษาและการใช้ดนตรีบำบัดในสหรัฐอเมริกานั้น เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงปี ค.ศ. 1940 ดนตรีบำบัดได้รับการพัฒนาและถูกนำมาใช้มากขึ้นโดย Ira Altshuler (1893 – 1968) นักจิตเวชและนักดนตรีบำบัด ได้พัฒนาองค์ความรู้ทั้งในด้านทฤษฎีดนตรีบำบัดและด้านการนำดนตรีบำบัดไปใช้ที่รัฐมิชิแกนมามากกว่า 3 ทศวรรษ
ประกอบกับ Willem van de Wall (1887 – 1953) ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกการใช้ดนตรีบำบัดในสถานพยาบาลของภาครัฐ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับวิธีการนำดนตรีบำบัดไปใช้ในการรักษาจริง ขึ้นเป็นชิ้นแรก โดยออกเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1936 ซึ่งมีชื่อบทความว่า “Music in Institutions” และ E.Thayer Gaston (1901 – 1970) “บิดาแห่งดนตรีบำบัด” ก็เป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีบำบัด โดยสามารถก่อตั้งหลักสูตรที่เปิดสอนด้านดนตรีบำบัดเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1944 ขึ้นที่ Michigan State University และได้รับการตอบรับและสานต่อจนสามารถเปิดสอนได้ในหลายมหาวิทยาลัย อาทิ University of Kansas, Chicago Musical College, College of the Pacific และ Alverno College เป็นต้น
จากผลของการก่อตั้งโปรแกรมและหลักสูตรที่ให้ความรู้และศึกษาวิจัยด้านดนตรีบำบัดในช่วง ค.ศ. 1940 – 1960 ส่งผลให้ “The American Music Therapy Association” (AMTA) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1998 โดยเป็นรวมตัวกันระหว่างสององค์กรที่ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านดนตรีบำบัดมาอย่างต่อเนื่อง คือ “The National Association for Music Therapy” (NAMT) และ “The American Association for Music Therapy” (AAMT)
ในปัจจุบัน AMTA ได้กลายเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนการให้ความรู้ สนับสนุนการศึกษาวิจัย การค้นหาองค์ความรู้ใหม่ในด้านดนตรีบำบัด ตลอดจนการให้ความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปถึงประโยชน์ของดนตรีบำบัด ดำเนินการทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ โดยรวมไปถึงการให้ความรู้ด้วยการจัดสัมมนา ตีพิมพ์วารสารเกี่ยวกับดนตรีบำบัด การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านดนตรีบำบัด ตลอดจนการออกจดหมายจข่าว แก่บรรดาสมาชิก ซึ่งในปัจจุบัน AMTA มีสมาชิกครอบคลุม 30 ประเทศทั่วโลก และยังคงยึดมั่นในหลักการด้านการให้ความรู้และความเข้าใจสำหรับการนำดนตรีบำบัดไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและถูกวิธี
หลักการและทฤษฎีดนตรีบำบัด
หลักการ แนวคิดและทฤษฎีดนตรีบำบัดทั่วไป คือ การใช้กิจกรรมดนตรี เช่น การร่วมร้องเพลง การเล่นดนตรี การฟังดนตรีหรือแม้แต่การเข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีในลักษณะใดลักษณะหนึ่งซึ่งได้รับการออกแบบ หรือวางขั้นตอนให้มีความเหมาะสมกับผู้เข้ารับการบริการดนตรีบำบัดแต่ละคน ย้ำนะครับว่าเฉพาะแต่ละคน
ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ารับการบริการดนตรีบำบัดมีทักษะการเล่นดนตรีสูงขึ้น (ไม่ได้แน่ให้เล่นดนตรีเก่งขึ้น) แต่เพื่อพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ เช่น ทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา โดยอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ดนตรีบำบัดเป็นการสร้างกิจกรรมทางดนตรีขึ้นสำหรับบุคคลใด บุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เนื่องจากดนตรีเป็นแขนงหนึ่งของงานศิลปะ ซึ่งต้องใช้รสนิยม ความชื่นชอบและความคุ้นเคยส่วนบุคคล ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และบริบทแวดล้อมของผู้ที่เข้ารับการบริการดนตรีบำบัดแต่ละคน
หากผู้ที่เข้ารับการบริการดนตรีบำบัดเป็นคนไทย ที่เติบโตในบริบทของไทย ชื่นชอบดนตรีไทย และไม่เคยรับฟังบทเพลงหรือดนตรีตะวันตกเลย ดังนั้นในการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดก็ควรจะใช้บทเพลงหรือดนตรีที่ผู้เข้ารับบริการดนตรีบำบัดมีความคุ้นเคย คือ ดนตรีไทย เป็นต้น
นอกจากหลักการและทฤษฎีดนตรีบำบัดที่ยึดแนวทางด้านข้อมูลพื้นฐานและบริบทแวดล้อมของผู้เข้ารับการบริการดนตรีบำบัดแล้ว เรื่องของระดับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดให้ประสบผลสำเร็จครับ เพราะมีผู้ปกครองหลาย ๆ คนคิดว่าดนตรีจะสามารถช่วยเหลือและสามารถรักษาอาการป่วยของบุตรหลานได้
โดยมักจะส่งบุตรหลานมา “เรียนดนตรี” (หมายถึงเรียนดนตรีในระดับปริญญาตรีนะครับ) เพราะคิดว่าดนตรีจะสามารถช่วยบำบัดอาการป่วยเหล่านั้นได้ เช่น อาการออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) หรืออาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เด็ก ๆ ที่ป่วยเป็นโรคเหล่านั้นเมื่อมาเรียนดนตรี บางคนอาการอาจจะดีขึ้นจริงครับ แต่เนื่องจากเขาเจอสังคมที่ดี มีเพื่อนที่ดีและที่สำคัญคือ เขาอาจจะมีความสุขกับสิ่งที่เขาทำและเขาอาจจะชอบการเรียนดนตรีจริง ๆ ซึ่งการเรียนนั้น จะมีลักษณะการเรียนที่ผสมผสานกันระหว่างภาคทฤษฎีดนตรี ประวัติศาสตร์ที่ต้องนั่งเรียน กับภาคปฏิบัติ ซึ่งต้องฝึกซ้อมการบรรเลงเครื่องดนตรีชิ้นเอกร่วมกับวิชากลุ่มรวมวงดนตรีที่จะได้เรียนและเล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ ซึ่งทั้งหมด สามารถเป็นกิจกรรมดนตรีบำบัดได้ไปในตัว
แต่ระดับของการเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีบำบัดนี่แหละครับ ที่เป็นปัญหา เพราะสำหรับเด็กบางคนอาจจะรับไม่ไหวกับการเรียนดนตรีแบบจริง ๆ จัง ๆ ครับ เพราะตามที่เคยกล่าวไว้ เพราะการเรียนดนตรีแม้จะสนุกและได้ทำกิจกรรมเยอะ แต่ก็ไม่ได้ง่าย
ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการกิจกรรมดนตรีบำบัดบางกรณีก็ไม่ได้เหมาะที่จะเข้ามาเรียนในระบบหรือเรียนเป็นปริญญาครับ เพราะมันหนักเกินไป ซึ่งแนวความคิดเรื่องของระดับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมดนตรีจึงถูกนำเข้ามาพิจารณาในการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัด ว่า ผู้มีความประสงค์จะเข้าร่วมการบริการดนตรีบำบัดกรณีต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนั้น ควรจะได้รับการบริการระดับใดบ้าง เช่น การเป็นเพียงผู้ฟังหรือเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม การเข้าร่วมด้วยการเล่นดนตรี หรือแม้กระทั่งการเข้าเรียนดนตรีแบบจริงจัง
ทั้งนี้ กิจกรรมดนตรีบำบัดทั้งหมด จะต้องได้รับการวางแผนและอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านดนตรีบำบัดและด้านการให้การรักษาพยาบาล เพื่อผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการอย่างแท้จริงครับ
ประโยชน์ของดนตรีบำบัด
นอกจากดนตรีบำบัดจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมสำหรับการรักษาและพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยแล้ว สำหรับคนปกติทั่วไป ที่ไม่มีอาการป่วยก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมหรือใช้บริการของดนตรีบำบัดได้ครับ เพราะประโยชน์ของดนตรีบำบัดนั้นมีขอบเขตที่กว้างไกลมาก มากพอที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องในการช่วยเหลือมนุษย์ทุกคนที่สามารถรับฟังหรือเข้าใจดนตรีทุกชนิด ทุกประเภทเลยก็ว่าได้ครับ
ตัวอย่างที่พบเห็นกันบ่อยครั้งในปัจจุบันก็คือ การใช้ดนตรีบำบัดเพื่อลดความตึงเครียด หรือบรรเทาอาการเครียด อีกทั้งยังมีผลงานวิจัยที่ออกมารองรับว่า ดนตรี มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการของสมองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ที่หากเด็กเริ่มการฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีทั้งแต่วัยเยาว์
การทำกิจกรรมดนตรีนี้จะสามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เด็กมีความสามารถแบบก้าวกระโดดในด้านการอ่าน ด้านภาษา อีกทั้ง การฟังเพลงบางชนิด ยกตัวอย่างเช่น บทเพลงคลาสสิกของโมสาร์ท ยังสามารถช่วยให้ทารกนอนหลับลึกได้เป็นอย่างดี ซึ่งการนอนหลับลึกนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับเด็กในวัยเจริญเติบโต เพราะสมองจะได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างเซลล์สมองมากที่สุดขณะที่ทารกนอนหลับลึก
จากบทความเกี่ยวกับดนตรีบำบัดนี้ เราหวังว่าจะสามารถสร้างความกระจ่าง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักคิดและทฤษฎีดนตรีบำบัดให้มากยิ่งขึ้น เพราะการใช้ดนตรีบำบัดนั้นเป็นสิ่งที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในสังคมในปัจจุบัน
เฉพาะฉะนั้นจึงยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำดนตรีบำบัดไปใช้ให้ถูกต้องตามหลักการที่แท้จริง เพื่อประโยชน์และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อผู้เข้ารับการบริการดนตรีบำบัดที่คาดหวังว่าจะมีอาการและสภาวะที่ดีขึ้น ไม่ใช่กลับทำให้แย่ลง แล้วมาโทษว่าดนตรีไม่ช่วยอะไร ทั้ง ๆ ที่ใช้ดนตรีบำบัดผิดวิธี