บทความโดย ผศ.นรเศรษฐ์ อุดาการ
Asst.Prof. Norrasate Udakarn
The College of Music, Payap University
การศึกษาค้นคว้า เพื่อทำความเข้าใจประวัติความเป็นมา ที่มาของเรื่องราวหรือการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นั้น เราคงจะไม่สามารถดำเนินการศึกษาค้นคว้าเฉพาะเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว แล้วจะสามารถทำความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้ หากเป็นเช่นนั้น การศึกษาค้นคว้าในประเด็นเหล่านั้นก็จะเป็นการศึกษาที่ตื้นเขิน ขาดมิติ และมุมมองรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีไทยหรือดนตรีตะวันตก ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ศึกษาจะต้องมีความรู้และทำความเข้าใจบริบทแวดล้อม สถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงในประเด็นอื่น ๆ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบการวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทั้งที่ใลก้ชิดกับดนตรี และอาจจะไม่มีความเกี่ยวพันธ์กับดนตรีเลยแม้แต่น้อย
โดยหากจะกล่าวถึงประวัติโน้ตสากล ตัวโน้ตสากลที่เรารู้จักในปัจจุบันนั้น เหลือหรือไม่ว่า ตัวโน้ตเหล่านี้ได้เดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน โดยเป็นสัญลักษณ์สื่อกลางที่มีความสำคัญ ในการถ่ายทอดและส่งต่อแนวความคิด แรงบันดาลใจและมรดกของนักประพันธ์บทเพลง ที่ผ่านกาลเวลาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันและจะยังคงเดินทางต่อเนื่องไปสู่อนาคตได้อีกด้วย ดังนั้น ในครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “ตัวโน้ตสากล” กันที่นี่
Advertisement
จุดเริ่มต้นของโน้ตสากล
ทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนมีประวัติและมีที่มา เสียงและโน้ตดนตรีสากลก็เช่นเดียวกัน โดยหากเราจะทำการศึกษาค้นคว้าที่มาของโน้ตสากลนั้น คงต้องกล่าวย้อนไปถึงอดีตกาล โดยอาจจะกล่าวได้ว่าเราต้องเริ่มทำความเข้าใจที่มาและประวัติของการเกิดเสียงดนตรีเลยก็ว่าได้
นับตั้งแต่มนุษย์สามารถสร้างเสียงดนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเกิดจากความพยายามในการเลียนเสียงของสิ่งที่อยู่รอบตัว เสียงสัตว์ เสียงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างเสียงที่เกิดจากการใช้สิ่งของ วัสดุต่าง ๆ ที่อาจจะหาได้ในสมัยนั้น นำมาสร้างเป็นเสียง ดังเช่นการสร้างเสียงสัญญาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากชนเผ่าโบราณ ตลอดจนการสร้างเสียงโดยมีวัตถุประสงค์ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อาทิ การส่งสัญญาณเตือนภัย การออกล่าสัตว์ หรือแม้กระทั่งการสร้างเสียงดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ
หลังจากนั้น มนุษย์จึงเริ่มต้นการพัฒนาประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรีขึ้นมามากมายหลากหลายชิ้น โดยมีความแตกต่างไปตามพื้นที่และวัฒนธรรมและในที่สุดเพื่อให้มีการ “ส่งต่อ” และ “สืบทอด” สิ่งที่สร้างและประดิษฐ์ขึ้นนั้น โน้ตสากลจึงได้ถือกำเนิดขึ้น
การแบ่งระดับเสียงสากล
หากเราทำการศึกษาค้นคว้าลงลึกในเชิงประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก สิ่งที่ไม่อาจจะละทิ้ง โดยไม่ได้ทำการศึกษาในรายละเอียดอย่างจริงจัง ก็คือ ประวัติของชนชาติกรีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในด้านหลักคิดและทฤษฎีดนตรีในสมันนั้น เนื่องจากดนตรีกรีกแม้จะไม่มีการจดบันทึกหรือมีหลักฐานที่เป็นโน้ตดนตรีเหมือนดั่งยุคอื่น ๆ แต่ยุคทางดนตรีในสมัยของวัฒนธรรมกรีกนั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อการให้กำเนิด “ระดับเสียง” ซึ่งนำไปสู่การสร้างเป็นบันไดเสียงและการแบ่งระดับเสียงต่าง ๆ นั่นเอง โดยหลักสำคัญของการเกิดบันไดเสียงของดนตรีตะวันตกนั้น ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก “โหมด” (Mode) ซึ่งคิดค้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีก นามว่า ไพธากอรัส (Pythagoras, 570 – 495 B.C.) ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะบิดาแห่งคณิตศาสตร์ โดยไพธากอรัสเป็นผู้แบ่งช่วงเสียงต่าง ๆ ออกเป็นระดับ ตามกฎพื้นฐานของเสียงที่มีความเกี่ยวพันกับหลักของปรัชญาและหลักการทางคณิตศาสตร์ที่เขามีความเชี่ยวชาญ
จากข้อมูลและหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกไว้ พบว่าไพธากอรัสสามารถค้นพบวิธีการแบ่งแยกเสียงต่าง ๆ ออกเป็นขั้นคู่ที่มีระยะเสียงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้การแบ่งแยกนั้นสามารถจำแนกได้ทั้งหมด 8 ขั้นคู่ ซึ่งได้จากการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับสั่นสะเทือนของวัตถุที่สามารถบอกความสั้นและความยาวของสายที่ถูกขึงบนกล่องเสียงที่เรียกว่า กล่องเสียง 2 จุด (Monochord) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไพธากอรัสประดิษฐ์ขึ้นไว้ได้ ทั้งนี้เมื่อนำหลักการทางคณิตศาสตร์เข้ามาคำนวณและอธิบาย พบว่า เสียงที่เกิดจากการดีดเส้นลวดนั้นจะมีความเปลี่ยนแปลง โดยเสียงจะสูงขึ้น 1 เท่า (Octave) เมื่อมีการแบ่งครึ่งเส้นลวดนั้นให้สั้นลง และเสียงจะสูงขึ้นเป็นขั้นคู่ 5 เมื่อมีการแบ่งเส้นลวดให้สั้นลง 2 ใน 3 ของเส้นลวดนั้น ยิ่งไปกว่านั้น ไพธากอรัสยังเพิ่มเติมอีกว่า การจัดระดับเสียง 1 ชุดนั้นจะประกอบไปด้วยการแบ่งระดับเสียงเป็น 4 ระดับเสียงซึ่งเรียกว่า “Tetrachord” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่การสร้างบันไดเสียงสากลในยุคต่อมานั่นเอง
ประวัติโน้ตสากล
ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าเมื่อมีการส่งของหรือความต้องการในการสืบทอดนั้น ย่อมมีการประดิษฐ์คิดค้นสื่อสัญลักษณ์ที่จะสามารถเป็นสื่อกลางในการบันทึกและถ่ายทอดเพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ โดยสำหรับการสืบทอดและการถ่ายทอดดนตรีสากลนั้น จึงเริ่มมีการประดิษฐ์และคิดค้นการ “บันทึกโน้ตสากล” (Notation) ขึ้น โดยในความเป็นจริงทั้งที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนและที่ไม่มีการค้นพบ เราสามารถกล่าวได้ว่ามนุษย์ได้มีความพยายามในการประดิษฐ์คิดค้นโน้ตสากลมากอย่างยาวนาน โดยมีด้วยกันมากมายหลากหลายระบบ ทั้งที่เหมือนและทั้งที่มีความแตกต่างไปจากตัวโน้ตสากลในปัจจุบัน อาทิ มีการใช้เป็นภาพ เครื่องหมาย หรือแม้กระทั้งการใช้จุดและเส้นขีดสั้น ๆ ดังเช่นการเริ่มต้นการใช้ตัวโน้ตสากลในช่วงยุคศตวรรษที่ 9 ซึ่งพระในโบสถ์คาทอลิกมีการใช้เครื่องหมายที่เป็นจุดและเส้นขีดสั้น ในรูปแบบต่าง ๆ มาบันทึกไว้ด้านบนของบนกวีที่เป็นคำร้องของบทเพลงศักดิ์สิทธิ์เพื่อบ่งบอกทิศทางการเดนของท่วงทำนองในการขับร้อง โดยเรียกเครื่องหมายนั้นว่า “นูมส์” (Neumes)
หลักจากนั้นในช่วงศตวรรษที่ 10 ในยุโรปเริ่มมีการใช้เส้น 1 เส้น (Staff Notation) สำหรับการบันทึกตัวโน้ตสากลและการบันทึกบทเพลง โดยสามารถใช้แทนการกำหนดระดับเสียงต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะตัวโน้ตสากลในช่วงเสียงกลาง ตามท่วงทำนองหลักที่เป็นลักษณะทั่วไปของบทเพลงที่ใช้ขับร้องในสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้มีระดับเสียงที่สูงหรือต่ำจนเกินไป โดยหลังจากนั้นการบันทึกตัวโน้ตสากลก็ดำเนินการใช้ร่วมกันทั้ง 2 รูปแบบจนกลายเป็นการบันทึกโน้ตสากลในรูปแบบ “Neumatic notation” ซึ่งเป็นการบันทึกตัวโน้ตสากลที่มีเส้นยาวอยู่ตรงกลาง และมีการใช้เส้นขีดสั้นเพื่อบ่งบอกการเดินขึ้น – ลง ของทำนอง
ตัวโน้ตมีกี่เสียง
ตัวโน้ตดนตรีนั้นมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาต่อยอดจากการแบ่งระดับเสียงของไพธากอรัสที่สามารถแบ่งช่วงเสียงออกเป็น 7 ส่วน ซึ่งเมื่อสังคมยุโรปเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคกลาง การบันทึกตัวโน้ตสากลด้วยระบบนูมส์นั้นก็ยังไม่มีการเรียกชื่อตัวโน้ตสากลเหมือนดังในปัจจุบัน จนกระทั้งช่วงศตวรรษที่ 10 จากหลักฐานที่เป็นงานเขียนของ กวิโด ดาเรซโซ (Guido d’Arezzo, ca 995 – 1050) ในชื่อ “Epistola de ignotocantu” ที่เป็นข้อเขียนถึงกลุ่มภาคีของเขา โดยในข้อเขียนนั้นมีการกล่าวอธิบายถึงการใช้พยางค์ อาทิ Ut, Re, Mi, Fa, Sol, La ซึ่งเป็นพยางค์และคำเรียกระดับเสียงแรกที่ปรากฏขึ้นในเนื้อร้องของบทเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า (Hymn) ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่มีการบ่งชี้ถึงการใช้ คำหรือชื่อในการเรียกระดับเสียง ซึ่งต่อมานั้น ได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปสู่เสียงพยางค์เรียกตัวโน้ตสากลดังในปัจจุบัน คือ โด เร มี ฟา โซล ลา ที โด หรือที่เรียกว่าระบบ Sol – Fa นั้นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น จากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติโน้ตสากล ทำให้เราพบว่า ในสมันนั้นยังมีการเพิ่มเติมเส้น (Staff) จากที่เคยใช้เพียง 1 – 2 เส้น ไปสู่การใช้เส้น 4 เส้นและพัฒนามาจนถึงในปัจจุบันที่มีทั้งหมด 5 เส้นสำหรับการบันทึกตัวโน้ตสากล ตามการใช้งานของการบันทึกเสียงของท่วงทำนองที่มีความสูงและต่ำมากยิ่งขึ้นประกอบกับภายหลัง เพื่อให้มีสะดวกในการใช้งานและในการแสดงมากยิ่งขึ้น นักดนตรีก็ได้มีการพัฒนาระบบการบันทึกตัวโน้ตสากลที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้อักษรภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ มาช่วยในการบันทึก ยกตัวอย่างเช่น C D E F G A B หรือ ด ร ม ฟ ซ ล ท ซึ่งเป็นการบันทึกโน้ตสากลแบบ “Alphabetic names” และเช่นเดียวกันกับระบบ “Degree names” ซึ่งจะเรียกเป็นดีกรีควบคู่ไปกับตัวเลขโรมัน ดังนี้ Tonic (I) Super Tonic (II) Mediant (III) Subdominant (IV) Dominant (V) Submediant (VI) Leading Tone (VII) เป็นต้น