บทความโดย ผศ.นรเศรษฐ์ อุดาการ
Asst.Prof. Norrasate Udakarn
The College of Music, Payap University
เรียนดนตรีจบมาแล้วทำอะไรได้บ้าง เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงมีคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับสายงานทางด้านดนตรี ว่านอกจากการประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีทั้งที่มีสังกัดและนักดนตรีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสากล ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้านหรือแม้กระทั้งประกอบอาชีพเป็นครูดนตรี อาจารย์สอนดนตรีที่เราพอจะทราบรายละเอียดกันบ้างแล้วนั้น ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกหรือไม่ ที่เป็นงานเกี่ยวกับดนตรีที่มีความน่าสนใจและไม่ตกเทรนด์
ดังนั้น ในครั้งนี้เราขอนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพที่เกี่ยวกับดนตรี ที่นอกเหนือจากการเป็นนักดนตรี มาเล่าให้ทุกท่านฟังกับบทความนี้
Composer/ Arranger
อีกหนึ่งงาน เกี่ยวกับดนตรีที่คุณสามารถสร้างงานได้ด้วยตัวของคุณเอง เพราะงานทุกชิ้นที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นนั้น จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณ ซึ่งสามารถนำออกขายได้ เพราะหากเปรียบกับอาชีพนักดนตรีหรือนักร้อง หลายครั้งที่เขาเหล่านั้นต้องใช้บทเพลงของคนอื่นในการแสดง อีกทั้งจากการแสดงดังกล่าว เหล่านักดนตรีและนักร้องจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงให้กับเจ้าของบทเพลงอีกด้วย ซึ่งในความเป็นจริงนั้นก็มีอยู่หลาย ๆ ครั้งหลายเหตุการณ์ที่ต้องมีการฟ้องร้องกันเลยทีเดียว
อาชีพนักแต่งเพลง และนักเรียบเรียงเพลงนั้น สามารถทำงานดนตรีได้ตามแต่คุณต้องการ และที่สำคัญคือเป็นอีกอาชีพที่ไม่มีวันตกงาน และไม่มีเพดานรายได้มาจำกัด เพราะหากคุณสร้างงานอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับเครือข่ายที่ดี เพียงเท่านี้ก็อาจจะทำให้คุณเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จในงาน เกี่ยวกับดนตรีงานนี้ เพราะก่อนที่คุณจะจบการศึกษาหรือการเรียน คุณต้องมั่นศึกษาและต้องเข้าใจหลักทฤษฎีดนตรีอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้มีทักษะมากเพียงพอจะยึดอาชีพนักแต่งเพลง เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีคู่แข่ง และมีการแข่งขันกันตลอดเวลา
Foley Artist
อาชีพนักสร้างเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือ Foley Artist เป็นอีกสายอาชีพที่แม้จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีโดยตรง แต่เป็นอาชีพที่มีความเชื่อมโยงกับการสร้างเสียงและหากผู้ที่ทำงานด้านนี้มีความรู้และมีความเข้าใจเรื่องดนตรีแล้ว จะยิ่งส่งผลให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการทำหน้าที่เป็นนักสร้างเสียงภาพยนต์เป็นงานส่วนหนึ่งของการทำ Post – production ของการสร้างภาพยนตร์เพื่อเพิ่มคุณภาพของเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ควบคู่ไปกับการทำ Original soundtrack/ sound mixing/ sound design ในทางปฏิบัติแล้ว นักสร้างเสียงนั้นสร้างเสียงต่าง ๆ จากสิ่งสมมุติทั้งหมดแต่เมื่อนำมาประกอบเข้ากับภาพของภาพยนต์แล้ว เสียงและภาพจะหลอกประสาทรับรู้ของผู้ชม ซึ่งสร้างความสมจริงพร้อมทั้งปรับคุณภาพของเสียงและสามารถความคุมเสียงต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจมาก ๆ โดยคุณไม่จำเป็นต้องเรียนดนตรีแม้แต่วิชาเดียว
หากสนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสายอาชีพนี้ ที่ Berklee College of Music และที่ Foley Center Northwestern University มีการเปิดสอนและให้ความรู้ โดยสามารถเข้าไปอ่านและศึกษารายละเอียดได้ โดยเป็นชั้นเรียนที่มุ่งเน้นสายงาน Foley Artist โดยเฉพาะ
Artist Manager
เหมือนกับผู้จัดการส่วนตัวของเหล่าดารา นักแสดง ที่ต้องทำงานร่วมกับนักดนตรีอย่างใกล้ชิด และด้วยความเข้าใจเรื่องดนตรี การแสดงและลักษณะต่าง ๆ ของงานในสายอาชีพดนตรีจะสามารถช่วยส่งเสริมให้คุณเป็นสุดยอดผู้จัดการ ที่สามารถดิลงานและตกลงบริหารเวลา ให้กับศิลปินในสังกัดของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกอย่างสามารถอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องดนตรีและการจัดการ การติดต่อประสานงานและทักษะอื่น ๆ รอบตัว โดยคุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีและสามารถเป็นอีกอาชีพที่มีรายได้สูงไม่ต่างจากผู้จัดการของดารานักแสดงในปัจจุบัน
DJ และ VJ
DJ หรือ disc jockey คือผู้จัดรายการเพลงและ VJ ก็เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกันกับการเปิดวิดีโอ โดยมีงานที่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีโดยตรง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีหรือไม่จำเป็นต้องเรียนดนตรีเสียด้วยซ้ำ แต่สามารถอาศัยการทำความเข้าใจ ประสบการณ์ในการฟังเพลงซึ่งสามารถนำมาประกอบกับการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถประกอบอาชีพ DJ และ VJ ได้ทันทีโดยหากคุณมีความสนใจในการเป็น DJ หรือ VJ ขอเพียงคุณมีทักษะในการพูดและมีภาพลักษณ์ที่น่าติดตาม คุณก็สามารถเป็น DJ และ VJ ได้ทันที
Music Therapist
สำหรับการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ยารักษาโรคต่าง ๆ อาจจะไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลมนุษย์ เพราะยารักษาโรคเหล่านั้นสามารถช่วยบำบัดและรักษาอาการได้เพียงแต่ด้านกายภาพ แต่สำหรับด้านจิตใจนั้นยาไม่สามารถช่วยได้
ดนตรีบำบัด (Music Therapy) จึงสามารถเป็นงานเกี่ยวกับดนตรีอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ จึงเกิดขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการรักษา หรือพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยทั้งในด้าน ร่างกาย จิตใจ ความคิด และรวมไปถึงทักษะทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดียิ่งขึ้น สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กลับสู่สภาวะปกติ หรือแม้กระทั้ง ดนตรีบำบัดสามารถช่วยในการฟื้นฟูให้ผู้ป่วยมีความพร้อมเพื่อที่จะรับการรักษาด้วยวิธีการปกติได้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย
จากผลงานวิจัยที่เคยมีการศึกษาไว้ สำหรับการใช้ดนตรีบำบัดต่อผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด โดยมีการใช้ดนตรีบำบัด ด้วยการให้ผู้ป่วยฟังเพลงก่อนการผ่าตัด โดยหลังจากฟังเพลงสามารถช่วยลดความเครียดและความกังวลของผู้ป่วยได้ เนื่องจากฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดนั้นมีปริมาณลดลง ส่งผลให้สามารถสรุปได้ว่าดนตรีบำบัดสามารถช่วยลดอาการเครียดและลดความกังวลต่อผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการฟังดนตรียังช่วยลดภาวะซึมเศร้า และสามารถปรับให้อารมณ์สงบขึ้นทำให้นอนหลับง่ายขึ้น เรียกได้ว่าดนตรีบำบัดเปรียบเสมือนยา หรือกิจกรรมบำบัดที่สามารถส่งผลกับจิตใจ ได้เป็นอย่างดี
Sound Collector
อาชีพยุคใหม่ งาน เกี่ยวกับดนตรี ที่ในปัจจุบันอาจจะยังไม่มีคนเคยทำมาก่อน จากการพัฒนาของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ส่งผลให้ในระยะเวลาอีกไม่เกิน 5 – 10 ปีนี้ จะมีอาชีพใหม่ ๆ ที่ยังไม่สามารถตั้งชื่อเรียกได้เกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในอาชีพนั้นก็คือ “นักสะสมเสียง” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่เต็มไปด้วยความช่างสังเกต และความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพราะอาชีพนักสะสมเสียง จะต้องเป็นคนที่เก็บและบันทึกเสียงต่าง ๆ ไม่เพียงแต่เครื่องดนตรี โน้ต คอร์ดหรือบทเพลง แต่ยังรวมไปถึงเสียงธรรมชาติ หรือเสียงที่เป็นเสียงพิเศษต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากแหล่งกำเนิดเสียงที่เราคาดไม่ถึง
ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับคนจบดนตรี ทำอะไรได้บ้างที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมบันเทิง คือ การได้มาซึ่งเสียงของ “Godzilla” และเสียงไดโนเสาร์ เพราะเสียงของสัตว์ยักษ์ที่กล่าวไปนั้น มีที่มาจาก “เชลโล่” หนึ่งในเครื่องดนตรีคลาสสิกในยุคเรานี่เอง แต่ผ่านกระบวนการสร้างเสียงใหม่ขึ้น ด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ผสมกับการยืดสายของเชลโล่ลง พร้อมทั้งสีให้เกิดเสียงที่มีเอกลักษณ์ โดยนักสะสมเสียงก็ต้องเก็บและบันทึกไว้ เพื่อนำมาใช้ในการตัดต่อ
ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่มีความสนใจในเสียงต่าง ๆ คุณสามารเก็บบันทึกเสียงเหล่านั้นไว้ เผื่อวันข้างหน้าคุณอาจจะเป็นเจ้าของเสียงเอฟเฟคที่เป็นเสียงเฉพาะที่สามารถนำมาขายได้ เป็นงาน เกี่ยวกับดนตรีอีกอาชีพที่สร้างรายได้