บทความโดย ผศ.นรเศรษฐ์ อุดาการ
Asst.Prof. Norrasate Udakarn
The College of Music, Payap University
“คอนแชร์โต ซิมโฟนีและวงออร์เคสตรา” ล้วนเปรียบเหมือนตัวแทน เครื่องแสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการ ความสวยงาม และภาวะเบ่งบานจนถึงขีดสุดของดนตรีคลาสสิคในโลกดนตรีตะวันตก
ไม่เพียงแต่ความงดงามด้านการประพันธ์เหล่าคีตกวีชื่อก้องโลกได้สร้างสรรค์บทเพลงคลาสสิคขึ้น แต่รวมไปถึงคุณประโยชน์และอิทธิพลที่ผลงานการประพันธ์เหล่านั้นได้สร้างขึ้น และส่งอิทธิพลต่อสู่นักดนตรี คีตกวีรุ่นหลัง หรือแม้แต่คนทุกคนในสังคมที่ชื่นชอบในความสุนทรีย์ของบทเพลงบรรเลงคลาสสิคมาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันมีผลงานของคีตกวีหลายคนที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เพลงคลาสสิค’ มากมายหลายชิ้นที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย พิสูจน์ความนิยมจากจำนวนครั้งนับไม่ถ้วนที่วงออร์เคสตร้าตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงระดับอำเภอหยิบบทเพลงเหล่านั้นมาบรรเลงต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสาย จนถึงขั้นกล่าวได้ว่าตะวันไม่เคยตกดินในแดนที่บทเพลงคลาสสิคเหล่านั้นถูกบรรเลงในทุก ๆ ชั่วโมง
แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับเพลงคลาสสิค การฟังเพลงบรรเลงของคีตกวีที่ล่วงลับไปกว่าร้อยปีแล้วอาจดูเหมือนเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงบทเพลงเหล่านั้นได้ด้วยเพียงปลายนิ้ว ผ่าน Streaming อย่าง YouTube, Spotify หรือ Apple Music
ในบทความนี้ ผมจึงได้คัดสรร 10 บทเพลงคลาสสิคที่ตนเองคิดว่า ‘ยิ่งใหญ่ที่สุด’ พิจารณาจากรสนิยมส่วนตัว กลวิธีในการประพันธ์เพลง และความนิยมในตัวคีตกวีผู้ประพันธ์งานชิ้นเอกเหล่านั้นขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รู้จักมักชิดกับดนตรีคลาสสิคมาก่อนได้เปิดใจทำความรู้จักกับบทเพลงที่ได้รับการยอมรับจากทั่วทุกมุมโลกว่าเป็น ‘ศิลปะ’ อันทรงคุณค่าและจะดำรงอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี
Symphony no.9 in D minor, Op.125 (Choral) ลุควิค ฟาน เบโธเฟน (Ludwig Von Beethoven, 1770 – 1827)
ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน เป็นบทเพลงคลาสสิคประเภทซิมโฟนีชิ้นสุดท้ายที่เบโธเฟนประพันธ์ไว้ โดยเขาเริ่มต้นแต่ง เมื่อราวปี ค.ศ.1818 จนแล้วเสร็จสมบูรณ์และนำบทเพลงคลาสสิคบทนี้ออกแสดงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1824 ที่ กรุงเวียนนา
ซิมโฟนีบทนี้เป็นผลงานที่เปรียบเสมือนบทสรุปของความคิด มุมมองและรูปแบบการประพันธ์ทั้งหมดที่เขามี ยิ่งไปกว่านั้น เขาประพันธ์บทเพลงนี้ในขณะที่เขาเริ่มมีปัญหาด้านการได้ยินแล้วครับ บทเพลงคลาสสิคบทนี้ประกอบไปด้วย 4 ท่อน และในท่อนสุดท้ายมีการเพิ่มเติมการบรรเลงประกอบของวงออร์เคสตราร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียง และนักร้องโซโล อีก 4 คน ซึ่งนำบทคำร้องมาจากโครงภาษาเยอรมัน “Ode an die Freude” (Ode to Joy) ผลงานการประพันธของ ฟรีดริช ชิลเลอร์ (Friedrich Schiller, 1759 – 1805)
บทเพลงคลาสสิคบทนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “The Philharmonic Society of Loandon” ให้เบโธเฟนประพันธ์บทเพลงนี้ตั้งแต่ปี 1817 และในการแสดงรอบปฐมฤกษ์ในปี 1824 ณ โรงละคร “Theater am Karntnertor” กรุงเวียนนา โดยเบโธเฟนทำหน้าที่เป็นวาทยกรด้วยตัวเอง ซึ่งขึ้นนำวงออร์เคสตราและคณะนักร้องประสานเสียงที่มีจำนวนคนมากที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดการแสดงมา
มีเรื่องเล่าจนเป็นตำนานจากการแสดงครั้งนั้น คือ เมื่อบรรเลงบทเพลงคลาสสิคบทนี้จบ ผู้ชมต่างพากันปรบมือ ยินดีในความยิ่งใหญ่ของบทเพลง แต่เบโธเฟนกลับไม่กล้าหันหลังไปโค้งคำนับผู้ชม ด้วยปัญหาด้านการได้ยินที่ทำให้เขาไม่ได้ยินเสียงตบมือ หรืออาจจะด้วยความกังวล เกรงว่าผู้ชมจะไม่พอใจจนไม่มีใครปรบมือ
จนกระทั่ง Caroline Unger นักร้องโซโลเสียง contralto เดินเข้าไปช่วยให้เบโธเฟนหันหลังไปหาผู้ชม ซึ่งล้วนแต่ปรบมือ แสดงความยินดี อีกทั้งยังยืนให้เกียรติ (Standing Ovations) ให้แก่เขาอีกด้วย เพราะแม้จะไม่ได้ยินปรบมือ แต่ก็สามารถรับรู้ความยินดีได้จากการมองผู้ชมในการแสดงครั้งนั้น โดยกลายเป็นเรื่องเล่าที่ส่งต่อความเป็นยอดนักประพันธ์ของเบโธเฟน ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านยุคทางดนตรีคลาสสิค จากยุคคลาสสิคไปสู้ยุคโรแมนติกอย่างเต็มตัว
ความพิเศษอีกประการของบทเพลงนี้คือ บทเพลงคลาสสิคบทนี้ถูกใช้เป็นเพลงประจำสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 และของสภายุโรปตั้งแต่ ปี ค.ศ.1975
Eine kleine Nachtmusik (Serenade no.13 for strings in G major) K.525 โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart, 1756 – 1772)
บทเพลงคลาสสิครูปแบบ เซเรเนดหมายเลข 13 สำหรับวงเครื่องสาย ในบันไดเสียง จี เมเจอร์ ประพันธ์โดยโมสาร์ท ในปี ค.ศ.1787 ผลงานชิ้นนี้มีชื่อเสีงและเป็นที่รู้จักอย่างมาก ในชื่อ “ไอเนอไคลเนอนัคท์มูซีค” เป็นภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่า บทประพันธ์เซเรเนดชิ้นเล็ก แท้จริงแล้วตั้งแต่เดิมบทเพลงคลาสสิค โมสาร์ทประพันธ์ขึ้นสำหรับวงเครื่องสายที่ประกอบไปด้วย ไวโอลิน 2 ตัว, วิโอลา, เชลโล และดับเบิลเบส แต่มักถูกนำมาแสดงด้วยวงออร์เคสตราที่มีการเพิ่มจำนวนนักเล่นเครื่องสาย
โมสาร์ทแต่งบทเพลงคลาสสิคบทนี้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1787 ในช่วงระหว่างการประพันธ์บทเพลง “ดอน โจวานี่” (Don Giovanni) ซึ่งเป็นบทเพลงคลาสสิค โมสาร์ทกำลังเตรียมนำออกแสดง แต่เดิมชื่อ “Eine kleine Nachtmusik” เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้เป็นชื่อหลักของบทเพลง แต่เพียงระบุไว้เป็นการส่วนตัว โดยภายหลังบทเพลงบรรเลงคลาสสิคบทนี้จึงกลายเป็นที่รู้จักและนิยมนำมาบรรเลงกันในชื่อนี้
เซเรเนด (Serenade) หมายถึง บทเพลงคลาสสิคที่ผู้ประพันธ์แต่งขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่คนรัก เพื่อน หรือบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมักใช้บรรเลงในช่วงค่ำหรือบรรเลงบริเวณซุ้มใต้หน้าต่าง ๆ ในเขตวังหรือคฤหาสน์ในสังคมตะวันตกตะวันตก
Der Ring des Nibelungen (The Ring of the Nibelung) ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner, 1813 – 1883)
“วงแหวนแห่งนีเบอลุง” (Der Ring des Nibelungen) เป็นปกรณัมชุดของริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีชาวเยอรมันผู้ซึ่งอุทิศชีวิตของเขาทั้งชีวิตสำหรับการประพันธ์บทเพลงคลาสสิค โดยเขาต้องการให้เป็น “องค์รวมแห่งงานศิลปะ” (Gesamtkunstwerk) หรือ Total Artwork
บทประพันธ์เพลงคลาสสิคชุดนี้ วากเนอร์ใช้เวลาในการประพันธ์ ถึง 26 ปี เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1841 จนถึง ปี 1874 โดยทั้งหมดมีเค้าโครงเรื่องมาจากตำนานเทพเจ้านอร์ส และนิทานปรัมปราเรื่อง “Nibelungenlied” โดยประกอบไปด้วยอุปรากรจำนวน 4 เรื่อง ซึ่งวากเนอร์ระบุว่าเป็นอุปรากรไตรภาค พร้อมด้วยบทนำอีกหนึ่งเรื่อง ได้แก่
- Das Rheingold (The Rhine Gold)
- Die Walküre (The Valkyrie)
- Siegfried
- Götterdämmerung(The Twilight of the Gods)
ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นครับว่า วากเนอร์มอบทั้งชีวิตของเขาให้กับผลงานการประพันธ์บทเพลงคลาสสิคบทนี้ ซึ่งนอกจากจะใช้ระยะเวลา 30 ปีแต่ด้วยความที่เป็น วากเนอร์ผู้ซึ่งใส่ใจในรายละเอียดงานทุกชิ้น จนถึงกับสร้างโรงละครที่ไว้ใช้เพื่อแสดงผลงานของเขาโดยเฉพาะ คือ “Bayreuth Theatre” อีกทั้งยังมีการสั่งให้คิดค้นเครื่องดนตรีมากมายหลายชิ้นที่ไว้ใช้ในการแสดงดนตรีคลาสสิค อาทิ Wagner Tuba เป็นต้น
นักวิชาการด้านดนตรีคลาสสิคหลายท่านอาจจะยกบทเพลง “Tristan und Isolde” ซึ่งมีการปรากฏขึ้นของการใช้คอร์ดที่ไม่สามารถระบุหน้าที่ได้ตามหลักทฤษฎีดนตรีคลาสสิคตะวันตก ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของ “Tonality Breakdown” การแตกสลายของ Tonal music ว่าเป็นบทเพลงที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิคตะวันตก แต่หากกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของวากเนอร์ แต่ไม่พูดถึงบทเพลง “Der Ring des Nibelungen” ก็คงไม่ได้ครับ เพราะบทเพลงนี้คือชีวิต และคือทุกสิ่งของวากเนอร์ครับ
Symphony no.3 กุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler, 1860 – 1911)
ซิมโฟนีหมายเลข 3 ผลงานการประพันธ์ของกุสตาฟ มาห์เลอร์ ที่ประพันธ์ขึ้นช่วงระหว่างปี ค.ศ.1898 ถึง 1896 เป็นบทเพลงคลาสสิคที่มีความยาวที่สุดของมาห์เลอร์ ยิ่งไปกว่านั้น ซิมโฟนีบทนี้ยังถูกจัดว่าเป็นบทเพลงคลาสสิคที่มีความยาวที่สุดในบรรดาเพลงบรรเลงคลาสสิคทั้งหมดที่เคยมีผู้ประพันธ์ขึ้น โดยบทเพลงนี้ประกอบไปด้วย 6 ท่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ เนื่องจากท่อนที่ 1 มีความยาวถึง 35 นาที ส่วนที่ 2 ประกอบไปด้วยท่อนที่ 2, 3, 4, 5 และ 6 รวมระยะเวลาที่ใช้ในการบรรเลงทั้งหมดทุกท่อน อยู่ที่เวลาประมาณ 100 -110 นาที
บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 3 ถูกนำมาแสดงเป็นครั้งแรกในวันที่ 9 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1902 ที่เทศกาลดนตรีคลาสสิคฤดูร้อน “Allgemeiner Deutscher Musikverein’s Summer Festival” ปี 1902 ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง Krefeld ประเทศเยอรมัน บรรเลงโดยวงออร์เคสตราประจำเทศกาลซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักดนตรีอาชีพจากวงออร์เคสตราหลายวง อาทิ Krefeld Orchetra, Gürzenich Orchestra of Cologne และจากเมืองอื่น ๆใกล้เคียง
ในการแสดงรอบปฐมทัศน์นี้ กุสตาฟ มาห์เลอร์ได้ทำหน้าที่วาทยกรนำวงบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 3 นี้ด้วยตัวเอง และได้รับเกียรติจาก นักดนตรีที่มีชื่อเสียงมากมายในยุคนั้นที่ได้เข้าชมการแสดง เช่น Richard Strauss, Willem Menglebeng, Bruno Walter เป็นต้น
บทเพลงนี้มีความพิเศษ คือ เป็นบทเพลงคลาสสิคที่มาห์เลอร์ประพันธ์เพื่อบรรยายและกล่าวถึงความงดงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักคิดหลายท่านในช่วงยุคโรแมนติกตอนปลาย ที่รวมเข้ากับความงดงามของสถานที่ที่มาห์เลอร์ใช้ในการประพันธ์บทเพลงคลาสสิคของเขาในช่วงหยุดฤดูร้อน ณ เมือง Maria Worth
ซิมโฟนีบทนี้มีนักวิชาการด้านดนตรีหลายท่านได้ตั้งชื่อเล่นให้กับบทเพลงคลาสสิคบทนี้คือ “Hymn to Nature” หรือบทเพลงสดุดีสรรเสริญธรรมชาติ โดยในแต่ละท่อนมีวัตถุประสงค์ในการประพันธ์ขึ้นเพื่อเล่าและบรรยายความงดงามของพันธ์พืช สิ่งมีชีวิต เพื่อนมนุษย์ เทวทูต และความรักในท่อนที่ 6 ซึ่งเป็นท่อนสุดท้าย โดยเป็นท่อนที่มีความเรียบง่าย ที่ได้รับสร้างสรรค์ท่วงทำนองจากบันไดเสียง D Major ที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความไพเราะและงดงามเป็นอย่างมาก
สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดองค์ประกอบในการบรรเลงของวงออร์เคสตราที่ดีเยี่ยม และนำเสนอด้วยเทคนิคการบรรเลงจากกลุ่มเครื่องดนตรีที่หลากหลาย อีกทั้งยังใช้จำนวนนักดนตรีมากที่สุดเพลงหนึ่งเลยทีเดียวครับ
Suite bergamasque โกลด เดอบูว์ซี (Claude Debussy, 1862 – 1918)
“งดงามดังแสงจันทร์” เป็นคำกล่าวที่เหมาะสมกับบทเพลงคลาสสิคที่พาจินตนาการของเราท่องไปไกลแสนไกล ด้วยเปียโนเพียงหลังเดียว Suite bergamasque ของ เดอบูว์ซี เป็นอีกหนึ่งบทเพลง ที่แม้จะหลับตาฟังก็สามารถเห็นภาพและบรรยากาศได้ชัดเจน สมกับเป็นบทเพลงคลาสสิค ที่มุ่งนำเสนอเทคนิคการประพันธ์ที่เน้นการแสดงออกถึงความประทับใจออกมาอย่างชัดแจ้ง มากกว่าการซ้อนอารมณ์ความรู้สึกไว้ภายในตามแนวทางของ “อิมเพรสชันนิสม์” (Impressionism)
เมื่อครั้งที่ เดอบูว์ซี ประพันธ์บทเพลงนี้เสร็จสิ้น เขาไม่ปรารถนาที่จะตีพิมพ์บทเพลงคลาสสิคบทนี้ในรูปแบบของเพลงชุดสำหรับเดี่ยวเปียโน เพราะคาดหวังว่าจะดำเนินการเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเขา แต่ในปี ค.ศ.1905 เขาได้ตอบรับการตีพิมพ์ อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ซึ่งคาดว่าบทเพลงคลาสสิคนี้จะประสบความสำเร็จ เดอบูว์ซี ได้เปลี่ยนเปลงชื่อท่อนของบทเพลงนี้หลายครั้ง โดยชื่อสุดท้ายที่เขาใช้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีของ Paul Vertaine และใช้ชื่อ Suite bergamaque ในที่สุดครับ ซึ่งท่อนที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือท่อนที่ 3 “Claire de lune” นั่นเอง
ความงดงามของบทเพลงคลาสสิคบทนี้ ไม่เพียงแต่งามด้วยความไพเราะ และเทคนิคการประพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเดอบูว์ซี แต่ด้วยตัวตนของทั้งนักประพันธ์และตัวบทเพลง ที่เป็นหมือนตัวกลางที่ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างโลกของดนตรีคลาสสิคกับศิลปะแขนงอื่น ๆ ที่อยู่ในยุคสมัยนั้น ซึ่งพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ โดยยืนหยัดเคียงข้างและเป็นตัวแทนของผลงานของกลุ่มศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ได้ไม่แพ้ โกลด มอแน (Claude Monet, 1840 – 1926) และ ปิแยร์ – โอกสต์ เรอนัวร์ (Pierre- Auguste Renoir, 1841 – 1919)
The Messiah จอร์จ ฟริดริก แฮนเดล (George Frideric Handel, 1685 – 1759)
บทเพลงคลาสสิคออราทอริโอภาษาอังกฤษ ผลงานการประพันธ์ของ แฮนเดล เป็นหนึ่งในบทเพลงร้องประสานเสียงที่มีความนิยมที่สุดบทหนึ่งของโลกดนตรีคลาสสิค โดยนำคำร้องมาจากคัมภีร์ไบเบิลฉบับนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ 2 ฉบับ ที่ได้ชำระขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ และสมัยสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ
แฮนเดลประพันธ์บทเพลงคลาสสิคบทนี้ที่ ลอนดอน ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ.1741 และนำออกแสดงครั้งแรกที่ กรุงดับลิน ในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ.1742 บทเพลงคลาสสิคบทนี้ได้รับการปรับปรุงและเรียบเรียงเป็นฉบับภาษาเยอรมันโดย โมสาร์ทในปี ค.ศ. 1789 โดยเพิ่มเติมส่วนของเครื่องเป่าลมไม้ ซึ่งในปัจจุบันที่นิยมนำมาแสดงกันเป็นฉบับที่เรียบเรียงโดย เอเบเนเซอร์ เพราต์ (Ebenezer Prout,1835 – 1909)
ปัจจุบัน “Messiah” นิยมนำออกแสดงและขับร้องกันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยเฉพาะดนตรีช่วงท้ายของท่อนที่ 2 จากทั้งหมด 3 ท่อน ในท่อน “Hallelujah” โดยเป็นบทคำร้องที่นำมาจากพระคริสต์ธรรมคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ โดยในการแสดงรอบแรกที่ลอนดอน ต่อหน้าพระพัตร์ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งบริเตรใหญ่ เมื่อดนตรีบรรเลงถึงท่อน “Hallelujah” สมเด็จพระเจ้าจอร์จทรงประทับยืนขึ้น ด้วยความประทับ
ใจในบทเพลงคลาสสิคบทนี้ จนทำให้ผู้ชมทั้งหอประชุมต้องพากันลุกขึ้นยืนตาม จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันว่า เมื่อการแสดงบทเพลงคลาสสิคบทนี้บรรเลงมาถึงท่อนนี้ ผู้ชมทุกคนจะต้องยืนขึ้นเพื่อฟังการบรรเลงท่อนนี้ทั้งท่อน
The Four Seasons (Le quattro Stagioni) อันโตนีโอ วีวัลดี (Antonio Vivaldi, 1678 – 1741)
“บทเพลงสี่ฤดู” เป็นงานประพันธ์เพลงบรรเลงคลาสสิคชุดไวโอลินคอนแชร์โต 4 ชิ้นประพันธ์ขึ้นโดย วีวัลดี เมื่อปี ค.ศ.1723 จัดเป็นผลงานดนตรีคลาสสิคชิ้นหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากยุคบาโรค คอนแชร์โตชุดนี้ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1725 เป็นส่วนหนึ่งของชุดคอนแชร์โต 12 ชิ้นที่ใช้ชื่อว่า “II Cimento dell’armonia e dell’inventione” (The Contest between Harmony and Invention) ทั้งนี้ คอนแชร์โต 4 ชิ้นแรกจาก 12 บท วีวัลดีได้ตั้งชื่อตามฤดูกาลทั้งสี่ คือ ฤดุใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วม และฤดูหนาว โดยแต่ละชิ้นแบ่งออกเป็นชิ้นละ 3 ท่อนตามแบบฉบับของบทเพลงคลาสสิคประเภทคอนแชร์โต
Antonio Lucio Vivaldi (1868 – 1741) คีตกวี ครูสอนดนตรี และนักไวโอลิน ชาวอิตาลี ประพันธ์บทเพลงที่ถือว่าเป็นที่นิยมสูงสุดจากยุคบาโรค และเป็น “ดนตรีที่บอกเล่าเรื่องราว” (Program Music) ชิ้นหนึ่ง แต่เนื่องจากในยุคบาโรคยังไม่มีการพูดถึงปรากฏการณ์นี้สักเท่าไหร ไม่เหมือนในยุคโรแมนติกซึ่งเป็นเวลากว่า 100 ปีให้หลังครับ
เพลงคลาสสิคบทนี้มีความพิเศษที่เป็นบทเพลงคอนแชร์โต ที่เขียนขึ้นสำหรับการแสดงความสามารถของนักไวโอลินซึ่งเป็นบทเพลงคอนแชร์โตบทแรก ๆ ที่ได้รับความนิยม เพราะแต่ก่อน ในสมัยนั้นมักนิยมฟังดนตรีคลาสสิคที่เป็นการบรรเลงของวงเครื่องสาย หรือเป็นเพลงร้องมากกว่าการเดี่ยวเครื่องดนตรี
ดังนั้นบทเพลงนี้จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของ “Instrumental Concerto” ในยุคต่อมา และจากที่กล่าวไว้ว่า บทเพลงนี้เป็นบทเพลงเล่าเรื่องราว ซึ่งเหมือนอยู่หลงยุค เพราะแนวคิดเรื่องบทเพลงเล่าเรื่องราวนั้นมีมาโดยตลอดทุกยุค แต่พึ่งจะมาเบ่งบานในยุคโรแมนติก เนื่องจากเข้ากับสภาพสังคมในสมัยโรแมนติกมากกว่าในยุคอดีต จึงสร้างความนิยมในด้านนี้ได้มากกว่าในยุคบาโรคที่ยังคงเป็นดนตรีในราชสำนัก
The Brandenburg Concertos โยฮัน เซบัสทีอัน บัค (Johann Sebastian Bach, 1685 – 1750)
“แบรนเดนเบิร์ก คอนแชร์โต” เป็นผลงานการประพันธ์ชุดคอนแชร์โต 6 บทของบัค ที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับ Christian Ludwig มาร์คกราฟแห่งแบรนเดนเบิร์ก ในปี ค.ศ. 1721 ซึ่งเป็นบทเพลงคลาสสิคที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับวงออร์เคสตราที่ดีที่สุดบทเพลงหนึ่งจากยุคบาโรค
บัคประพันธ์บทเพลงคลาสสิคบทนี้ เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งเป็น “Kapellmeister” ที่เมือง Köthen โดยเป็นบทเพลงประเภทคอนแชร์โตที่ใช้เครื่องดนตรีคลาสสิคจำนวนมากชิ้น และหลากหลายที่สุดบทหนึ่งสำหรับยุคบาโรค ทั้ง Natural Trumpet, Recorder, Oboe และ Violin ความโดดเด่นของบทเพลงนี้คือ การเป็นต้นแบบของบทเพลงประเภท “Concerto Grosso” ในภายหลัง เพราะการจัดองค์ประกอบของบทเพลงนี้จะมีกลุ่มนักดนตรี 2 กลุ่มคือ กลุ่ม Concertino ที่บรรเลงโซโล และกลุ่ม Ripieno ที่บรรเลงสนับสนุน
The Planets กุสตาฟ โฮลส์ (Gustav Holst, 1874 – 1934)
“บทเพลงแห่งระบบสุริยะ” หรือ The planets เป็นผลงานเพลงคลาสสิคโดยนักประพันธ์ชาวอังกฤษ กุสตาฟ โฮลส์ โดยเป็นบทเพลงชุด ที่มีความเกี่ยวพันธ์กับดวงดาวที่ง 7 ดวงได้แก่ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, ดาวอังคาร, ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ซึ่งสื่อสารผ่านเพลงดนตรีคลาสสิคเพื่ออธิบายลักษณะและตัวตนของดวงดาวนั้นตามเทพประจำดวงดาว เช่น ดาวอังคาร เทพผู้นำมาซึ่งสงคราม หรือ ดาวศุกร์ที่แทนเทพวีนัส ผู้นำมาซึ่งสันติ
บทเพลงนี้มีความพิเศษที่ทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างงานดนตรีคลาสสิคกับวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เพราะศิลปะและดนตรีคลาสสิคต่างก็ถูกสร้างสรรค์โดยมนุษย์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของสังคมและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ต่างจากผลงานการประพันธ์ที่อยู่ในยุคคลาสสิคที่สังคมตะวันตกเป็นสังคมที่สงบสุข
งานส่วนใหญ่จึงสะท้อนภาพธรรมชาติ ความเจริญรุ่งเรื่อง ความหรูหรา แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับผลงานในยุคโรแมนติกตอนปลาย ที่เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ยุตสงครามก็สะท้อนภาพอารมณ์ ความรู้สึกที่รุนแรง และเช่นเดียวกันกับงาน “The Planets” ที่ทำให้เราเห็นถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมนุษย์เริ่มรู้จัก ดวงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลแต่ก็ยังไม่ละทิ้งความเชื่อดั่งเดิมในแง่ของเทพเจ้าที่นำพาสิ่งต่าง ๆ มาสู่เรา
Also Sprach Zarathustra ริชาร์ด สเตราส์ (Richard Strauss, 1864 – 1949)
เสียงโทนต่ำจาก คอนทร้าบาสซูน คอนทร้าเบสและออแกน ตามด้วยเสียงกลุ่มทรัมเป็ตบรรเลงประโคมเปิดบทเพลง เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความยิ่งใหญ่ จากบทเพลงคลาสสิคบทนี้ ซึ่งเป็นบทประพันธ์ประเภทโทนโพเอ็ม (Tone Poem) ประพันธ์ขึ้นในปี 1896 โดย ริชาร์ด สเตราส์ นักประพันธ์ยุคโรมแมนติกชาวเยอรมัน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่องดังของ ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche, 1844 – 1900) กวีและนักปราชญ์ชาวเยอรมัน เรื่อง “คือพจนาซาราทุสตรา” (Also sprach Zarathustra) โดยบทเพลงคลาสสิคบทนี้ถูกนำออกแสดงครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1896 ใช้ระยะเวลาในการแสดงประมาณ 30 นาที
เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อครับ ที่บทเพลงบรรเลงคลาสสิคบทนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายด้วยเพียง 2 นาทีแรกของบทเพลง เพราะช่วงตอนของบทเพลงคลาสสิคบทนี้ ถูกนำมาบรรยายฉาก “Sunrise” หรือพระอาทิตย์ขึ้นในภาพยนตร์เรื่องดังของ Stanley Kubrick (1928 – 1999) เรื่อง “2001: A Space Odyssey” ในปี 1968
แต่ความโดดเด่นของงานประพันธ์บทเพลงคลาสสิคชิ้นนี้นั้น อยู่ความลุ่มลึกของการประพันธ์ ซึ่งสเตราส์ได้สร้างสรรค์ขึ้นตามแรงบันดาลใจของเขาที่ได้รับจากงานประพันธ์ของ นีทเชอ โดยพัฒนาเป็น Motif ที่สร้างขึ้นจาก โน้ต C-G-C ซึ่งเป็นสามโน้ตแรกที่มีอยู่ในเสียง Overtone Series ซึ่งเป็นเสียงที่เปรียบดั่งการเริ่มต้นขึ้นของธรรมชาติ และมีการนำกลับมาใช้ตลอดทั้งบทเพลง นำมาซึ่งปริศนาของท่วงทำนองนี้ที่ไม่มีการแก้ไขกลับ (Resolve) ให้ถูกต้องตามหลักการทางทฤษฎีดนตรีตะวันตก เพราะความเห็นที่แตกต่างของสเตราส์ในบทประพันธ์ของนีทเชอ โดยทำให้เห็นว่าศิลปินในยุคนั้นต่างที่จะสื่อสาร และแสดงความคิดเห็นต่อกันผ่านทางผลงานของตน ไม่ต่างจากการสนทนาระหว่าง 2 สุดยอดศิลปิน
และนี่คือ 10 บทเพลงคลาสสิคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทัศนะของผม หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ลองทำความรู้จักบทเพลงเหล่านี้ และเปิดใจฟังงานชิ้นเอกที่ยืนหยัดข้ามวันเวลามาหลายร้อยปี เพราะเพลงบรรเลงคลาสสิคมีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคลายเครียด ช่วยรักษาโรคซึมเศร้า ไปจนถึงการช่วยพัฒนาการของเด็กแรกเกิดหรือที่เรียกว่าดนตรีบำบัด (Music Therapy) อีกด้วย
อ่านบทความอื่น ๆ