บทความโดย ผศ.นรเศรษฐ์ อุดาการ
Asst.Prof. Norrasate Udakarn
The College of Music, Payap University
“เรียนดนตรีไทยหรือเล่นเครื่องดนตรีไทยกันไปทำไม ประวัติดนตรีไทยสมัยต่าง ๆ ก็น่าเบื่อ”
นี่คงเป็นคำถามในใจใครหลายคน เพราะเราอยู่ในยุคที่สังคมมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปอย่างไม่หยุดยั้งในทุกมิติ
เราสามารถติดต่อสื่อสารกับเพื่อนที่อยู่ห่างไกลในต่างประเทศหรือต่างภูมิภาคได้แบบเห็นหน้าเห็นตากัน (Face-to-face) ผ่านอุปกรณ์ทันสมัยซึ่งนับวันขนาดเครื่องก็เล็กลงเรื่อย ๆ และเราก็มีหุ่นยนต์ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนเราในงานหลายประเภท เช่น งานเสี่ยงภัยต่าง ๆ งานที่ต้องใช้กำลังและเวลามาก เช่นในสายงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ในครัวเรือนก็ยังมีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นให้ใช้งานกันอย่างสะดวกสบาย
แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ถึงแม้ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน สิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจของมนุษย์ให้ยังมีความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ ก็คือ งานศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ศิลปินรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตบรรจง โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ดนตรีหรือดนตรีไทยของเราครับ
ดนตรีเป็นหนึ่งในเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของสังคม ดังคำกล่าว “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” จากบทประพันธ์ “เวนิสวาณิช” พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่สื่อถึงดนตรี ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ได้รับการสะสมและตกตะกอนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ดนตรีไทยก็ดุจกัน
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดนตรีไทยได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ดนตรีไทยกลับเป็นที่นิยมและรู้จักกันน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พื้นฐานดนตรีไทย ประวัติดนตรีไทยสมัยต่าง ๆ หรือแม้แต่ชนิดของเครื่องดนตรีไทย เพราะระบบการศึกษาไทยที่แบนราบ มีการเรียนการสอนวิชาดนตรีไทยแค่เพียงในหนังสือ ไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ทดลองเล่น หรือเรียนเครื่องดนตรีไทยจริง ๆ ทั้งที่ดนตรีไทยนั้นเปรียบเสมือน ‘มรดกของชาติ’
แล้วทำไมเราต้องเรียนดนตรีไทย?
หลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไม ตอนเราเป็นเด็กนักเรียนถึงต้องเรียนวิชาดนตรีไทย คำตอบของข้อสงสัยนี้ มีมากมายหลากหลายเหตุผลครับ จริงอยู่ที่โลกเจริญก้าวหน้าไปสู่ยุคใหม่ เป็นยุคที่โลกไร้พรมแดน วัฒนธรรมจากต่างชาติโถมกระหน่ำเข้าใส่เยาวชนไทย จนแทบจะลืมไปแล้วว่าเรามีตัวตนอย่างไร
การเรียนดนตรีไทยก็เปรียบเสมือนเครื่องย้ำเตือนถึงตัวตนของเราให้ระลึกถึง “ความเป็นไทย” อยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ในการสืบทอดมรดกของดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทยและประวัติดนตรีไทยสมัยต่าง ๆ นี้ต่อไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้อย่างยั่งยืน และยิ่งไปกว่าเหตุผลอย่างที่กล่าวไป ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่กล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนดนตรีไทย โดยบทความนี้ขอหยิบยกขึ้นมานำเสนออีก 5 เหตุผลด้วยกันครับว่า ทำไมคนไทยรุ่นใหม่ถึงต้องเรียนดนตรีไทย
เหตุผลที่ 1 ดนตรีไทยเป็นมรดกของชาติ ใครจะเล่นถ้าเราไม่เล่น
คำตอบง่าย ๆ สำหรับคำถามที่ว่าทำไมคนไทยยุคใหม่ถึงของเรียนดนตรีไทย นั่นคือ ดนตรีไทย เป็นของไทย ถ้าคนไทยไม่เรียน ไม่เล่น แล้วจะให้ใครที่ไหนมาเล่นดนตรีไทย
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ดนตรีไทยเป็นสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นมรดกของชาติ เป็นศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ทั้งในแง่ของความงดงาม และในแง่ของการสืบทอดทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งคงเป็นเรื่องแปลกพิกลและย้อนแย้งน่าดู หากในอนาคตลูกหลานของเราต้องไปนั่งเรียนดนตรีไทย เรียนการบรรเลงเครื่องดนตรีไทย กับครูและอาจารย์ชาวต่างชาติ
ดังนั้น การเรียนดนตรีไทยจึงเป็นสิ่งที่คนไทยยุคใหม่ควรให้ความสำคัญ ไม่แพ้การเรียนวิชาหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยสามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่เด็ก ประกอบกับดนตรีไทย และประวัติดนตรีไทยสมัยต่าง ๆ นั้นเป็นเนื้อหาหลักของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
นอกจากนั้น ควรจะต้องมีการปรับวิธีการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ นักเรียนได้เรียนและเล่นเครื่องดนตรีไทยมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเรียนวิชาดนตรีไทย ซึ่งเป็นวิชาปฏิบัติจากการเรียนด้วยหนังสือตำราเรียน โดยจะส่งผลให้นักเรียนขาดประสบการณ์ และขาดความรู้ความเข้าใจตัวดนตรีไทย และยิ่งทำให้นักเรียนซึ่งจะเติบโตไปเป็นคนไทยยุคใหม่ในอนาคต มีระยะห่างจากดนตรีไทยมากยิ่งไปอีก ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาไม่สนใจและและเห็นคุณค่าของการเล่นดนตรีไทยไปในที่สุด
เหตุผลที่ 2 ดนตรีไทยสร้างคนดี มีวินัยและอดทน
อยากเก่งดนตรีไทย หรืออยากเล่นเครื่องดนตรีไทยได้ บอกได้เลยครับว่าไม่มีทางลัด
การเล่นดนตรีไทยเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกซ้อม ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้วิธีการ กลวิธีการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยที่ถูกต้อง และต้องมีการปฏิบัติซ้ำเพื่อให้เกิดความชำนาญในการปฏิบัติเครื่องดนตรีไทยชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทน พยายาม เพื่อที่จะให้เกิดเป็นทักษะขึ้น มีหลายคนที่ล้มเลิกความตั้งใจ เลิกเล่น เลิกเรียนดนตรีไทยไปก่อน เพราะขาดความอดทนและขาดวินัย
ด้วยเหตุนี้ คงจะเป็นการดีมิใช่น้อย หากเด็กไทยยุคใหม่ ได้มีโอกาสได้เรียนดนตรีไทยอย่างแท้จริง โดยยึดแนวทางการเรียนดนตรีไทยทั้งด้านประวัติดนตรีในสมัยต่าง ๆ เพื่อให้มีความเข้าใจประวัติความเป็นมา และเข้าถึงความเป็นไทยผ่านกระบวนการเรียนดนตรีไทย ที่สามารถได้เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์และได้เรียนรู้ทักษะการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะเป็นการฝึกวินัย เสริมสร้างความอดทน และความเพียรพยายาม สอนให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ แต่ต้องแลกมาด้วยความตั้งใจและความขยันหมั่นเพียร
นอกจากนั้น การใช้การเรียนดนตรีไทยเป็นเครื่องมือและเป็นสื่อกลางในกระบวนการขัดเกลาเสริมสร้างคุณลักษณะของการเป็นพลเมืองที่ดีในทางอ้อม เพราะหากเราต้องการให้เด็กไทยยุคใหม่มีวินัย มีความอดทนอดกลั้น เราคงไม่สามารถสอนเขาเรื่องวินัยและความอดทนได้โดยตรง เพราะคนยุค Gen – Y และ Gen Z อาจจะไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือยอมรับคำสั่งสอนแบบตรงไปตรงมา หรือที่เรียกว่า ‘การอบรมสั่งสอน’ แบบเก่ามากนัก เราจึงต้องใช้กระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่จะเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง พบเจอสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ ไม่ใช่การสอนแบบท่องจำหรือสอนเพียงเพื่อให้รู้เหมือนที่ผ่าน ๆ มา
การเรียนดนตรีไทยจึงสามารถเป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบนี้ได้ เพราะช่วยสร้างเสริมคนไทยให้มีทั้งวินัย ความอดทนและยังสามารถเล่นดนตรีไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติได้อีกด้วย
เหตุผลที่ 3 ดนตรีไทยสร้างรายได้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งตัวอย่างประสบความสำเร็จอย่างมากจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ศิลปะ วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งสามารถนำเงินเข้าประเทศได้ปีหนึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว แล้วทำไมเราถึงจะทำแบบนั้นไม่ได้บ้าง โดยใช้ดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทย เป็นตัวนำ
ดนตรีไทยและเครื่องดนตรีไทย เป็นที่สนใจอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ด้วยราคาที่ไม่แพงนัก เมื่อเทียบกับราคาเครื่องดนตรีสากล ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ซื้อเครื่องดนตรีไทยกลับไปเป็นของที่ระลึก หรือบางรายอาจจะซื้อกลับไปฝึกเล่นดนตรีไทยด้วยตนเอง เพราะในต่างแดน การเล่นเครื่องดนตรีต่างชาตินั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ยิ่งไปกว่านั้น การหาดูการแสดงดนตรีไทยในต่างประเทศนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ ดังนั้นหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ต่างแดน และสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยได้ คุณอาจจะได้งานเสริมโดยไม่รู้ตัว ทั้งงานการแสดงดนตรีไทย และอาจจะมีโอกาสได้สอนดนตรีไทยเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้คนต่างชาติได้ซึมซับอีกด้วยครับ
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการใช้ดนตรีในการสร้างรายได้คือ การรับจ้างเล่นดนตรี
เกินกว่าครึ่งของศิลปินนักร้อง นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้วเขาไม่ได้จบการศึกษาด้านดนตรีเสียด้วยซ้ำครับ โดยเฉพาะดนตรีไทย มีน้อยคนนักที่จะเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย
เพราะดนตรีไทยมีการสืบทอดอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยวิธีการต่อเพลง หรือแม้แต่การฝากตัวเป็นศิษย์จากสำนักดนตรีไทยในที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งหากคนไทยยุคใหม่เริ่มเรียนดนตรีไทยอย่างถูกต้องตามหลักตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นย่อมมีทักษะอย่างน้อย ๆ ก็สามารถเล่นรวมวงออกงานได้ หรือสามารถใช้เวลาว่างสอนดนตรีไทยเป็นอาชีพเสริมก็ยังได้ครับ
ยิ่งไปกว่านั้นคุณทราบหรือไม่ครับว่า ในอนาคตอีก 5 – 10 ปี อาชีพที่จะถือว่าขาดแคลนคือ ครูดนตรีไทย ซึ่งนับวันยิ่งหลงเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ
เหตุผลที่ 4 ดนตรีไทยช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพจิตใจ
การทำงานของสมองมนุษย์นั้น นับได้ว่าเป็นระบบการทำงานที่น่าอัศจรรย์มากที่สุดระบบหนึ่งนับตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นมา
สมองของมนุษย์สามารถตอบสนองและแยกแยะอารมณ์ ความรู้สึกที่มีต่อเสียงดนตรีได้หลากหลาย ทั้งความสุข เศร้า เร้าใจ ตื่นเต้น หรือแม้กระทั่งความหวาดกลัว ซึ่งเกิดจากกระบวนการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในสมองที่ตอบสนองต่อการได้ยินเสียงดนตรีชนิดและประเภทต่าง ๆ ประกอบกับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคล โดยมนุษย์จะสามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสมขึ้นอยู่กับการรับรู้ ความคุ้นชินและสภาวะทางอารมณ์ในขณะนั้น
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ดนตรีช่วยให้เกิดพัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ ( EQ – Emotional Quotient) โดยเฉพาะดนตรีไทย ซึ่งเรามีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อันสามารถพัฒนาต่อเนื่องไปสู่การจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้เสียงดนตรีไทยเป็นเครื่องมือหรือเป็นสื่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กเล็กและเยาวชนที่จะมีความรู้สึกสนุกสนานเมื่อได้ทำกิจกรรมที่มีเสียงดนตรีประกอบ เพราะเป็นการกระตุ้นการรับรู้ด้านการได้ยินไปพร้อม ๆ กับการมองและการปฏิบัติ
ด้วยเหตุนี้ การเรียนการสอนดนตรีในระดับโรงเรียนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดแทรกดนตรีไทยและการเล่นเครื่องดนตรีไทยเข้าไป เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีไทย มากกว่าการเรียนจากตำราหรือหนังสือเพียงอย่างเดียว เพราะการเรียนดนตรีสากลและดนตรีไทยนั้น สามารถช่วยเสริมสร้างและพัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ได้อย่างแท้จริงครับ
เหตุผลที่ 5 ดนตรีไทยนำพาคนให้มาพบกัน
ดนตรีไทยเป็นอีกกิจกรรมที่สามารถพัฒนาไปสู่การพบปะกันของกลุ่มคนไทยยุดใหม่และเยาวชนได้
ด้วยดนตรีไทยและดนตรีชนิดอื่น ๆ มักถูกนำเป็นเป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมายหลายรูปแบบ ทั้งกิจกรรมวงดุริยางค์หรือวงโยธวาทิต วงมโหรี วงปี่พาทย์หรือแตรวง ทั้งงานแต่ง งานบวชหรือขึ้นบ้านใหม่ รวมไปถึงกิจกรรมดนตรีประยุกต์ซึ่งใช้ทั้งเครื่องดนตรีสากลบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีไทย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากให้กลุ่มเยาวชนยุคใหม่
เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ดนตรีสากลและดนตรีไทยสามารถทำให้เรามาอยู่รวมกันในสถานที่หนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่งได้จริง ซึ่งนั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีความแตกต่างจากเครื่องจักรและหุ่นยนต์ เพราะมนุษย์ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงต้องการสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมในรูปแบบดั่งเดิม หรือสังคมในโลกสมมุติ เช่น Social Network ต่าง ๆ
ยิ่งไปกว่านั้น การเล่นดนตรีไทยยังเป็นหนึ่งในศิลปศาสตร์ที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นจากความคิด ความปราถณา อารมณ์และความรู้สึก ซึ่งได้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างสรรค์บทเพลง การขับร้อง การแสดง หรือการบรรเลงเครื่องดนตรีไทยและดนตรีสากล
ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหล่อหลอมเด็กและคนไทยยุคใหม่ให้เติบโตไปสู่การเป็นคนที่มีสุนทรียภาพ มีภูมิคุ้มกัน และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์
และที่สำคัญมีความเป็นมนุษย์มากกว่าการเป็นหุ่นยนต์ที่ได้แต่ทำตามคำสั่ง และมีหน้าที่เพียงแต่ตอบสนองอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว